แหล่งปลูกกาแฟ..ในภาคเหนือของประเทศไทย
กาแฟอาราบิก้า คือ เมล็ดกาแฟสายพันธุ์นี้ถือว่าเป็นพันธุ์กาแฟที่ถูกค้นพบ และมีการปลูกมาอย่างยาวนาน ซึ่งพื้นที่สำหรับปลูกควรต้องเป็นพื้นที่สูง อากาศเย็น ส่วนใหญ่จึงต้องปลูกบนพื้นที่เหนือขึ้นไปจากระดับน้ำของทะเลประมาณ 800 – 1,000 เมตร เพราะจะทำให้เจริญเติบโตได้ดี ออกผลผลิตที่มีคุณภาพได้ มีขนาดความสูงของต้นอยู่ที่ 2.5-4.5 เมตร จึงพบเห็นได้ว่ากาแฟอาราบิก้านี้ปลูกมากที่สุดในแถบจังหวัดภาคเหนือของไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น เมื่อปลูกในสภาวะแวดล้อมที่เย็นสดชื่นตลอดเวลา จึงทำให้กาแฟพันธุ์นี้มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ชงแล้วได้รสชาติที่กลมกล่อม และมีปริมาณคาเฟอีนไม่ถึง 2% นับว่ามีคาเฟอีนที่น้อยมาก ๆ และที่สำคัญยังเป็นที่นิยมใช้กันมากทั่วโลกกว่า 80% เลยก็ว่าได้
สายพันธุ์กาแฟอาราบิก้า
แต่ก่อนจะลงไปยังรายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์ เรามาเริ่มต้นกันก่อนด้วยประวัติพอสังเขป แน่นอน เราต่างรู้อยู่แล้ว ว่าประเทศเอธิโอเปียซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาคือต้นกำเนิดของกาแฟ ประกอบด้วยกาแฟกว่า 100 สปีชีส์ และอราบิก้าก็คือหนึ่งในสปีชีส์กาแฟซึ่งได้แพร่ขยาย เกษตรกรในประเทศผู้ผลิตนำไปปลูกกันอย่างกว้างขวาง โดยสายพันธุ์หลักทั้ง 2 ซึ่งถูกนำออกจากเอธิโอเปีย เดินทางเข้าสู่ประเทศเยเมน จนในที่สุดกระจายทั่วโลกนั้นก็คือสายพันธุ์ทิปิก้าและเบอร์บอน ต่อมาเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ก็เกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ จึงทำให้เกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย แผนผังข้างล่างนี้บ่งบอกความสัมพันธ์ของอราบิก้าทั้ง 6 สายพันธุ์นี้
พื้นที่ปลูกกาแฟ และสภาพอากาศ มีผลต่อรสชาติกาแฟหรือไม่
พื้นที่เพาะปลูกกาแฟและสภาพภูมิอากาศนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อขนาด รูปร่าง และรสชาติของกาแฟ
อาราบิก้า ชอบพื้นที่เพาะปลูกที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 ฟุต – 6,300 ฟุต (หรือความสูง 548 เมตร – 1,920 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ที่มีภูมิอากาศที่เย็น
โรบัสต้า ต้องการระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 600 ฟุต – 2,400 ฟุต (หรือความสูง 182 เมตร – 731 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ที่มีภูมิอากาศอบอุ่น
ทำไมระดับความสูงของพื้นที่เพาะปลูกที่สูงกว่าจึงดีกว่า?
แหล่งเพาะปลูกที่มีระดับสูงกว่านั้นจะผลิตสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นกรด acidic ที่ให้รสเปรี้ยวมากขึ้น มีกลิ่นที่หอมหวน และรสชาติที่น่าลิ้มลอง ส่วนแหล่งเพาะปลูกที่ต่ำกว่า กาแฟมีแนวโน้มที่จะมีความเป็นกรดต่ำ
กาแฟที่ปลูกบนความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,200 ฟุต (หรือความสูง 1584 เมตรจากระดับน้ำทะเล) นั้นจึงมีรสชาติที่ดียิ่ง พื้นที่เพาะปลูกจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อรสชาติกาแฟ
กาแฟแต่ละแหล่งปลูก
-
กาแฟเชียงใหม่
ด้วยเชียงใหม่เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่ให้ผลผลิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติโดยมีแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญ ๆ กว่า 12 แห่ง และในแต่ละพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์ของผลผลิตที่แตกต่างกัน โรงแรมดิเรนทรีเชียงใหม่ รวมรวมแหล่งปลูกกาแฟดีๆมาให้แล้วค่ะ แม่ตอนหลวง อ.ดอยสะเก็ด จากไร่ชาสู่พื้นที่การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ที่ทำให้เมล็ดกาแฟมีกลิ่นหอมดอกไม้ป่าและกลิ่นผลไม้แทรกผสมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่หาที่ใหนไม่ได้
เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด ด้วยพื้นที่ปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้ต้นนบนความสูงระดับ 1,100 – 1,500 เมตร ทำให้เมล็ดกาแฟความหอมของดอกไม้ป่าทำให้มีรสชาติและกลิ่นแตกต่างจากกาแฟแหล่งอื่นๆ
แม่กำปอง อ.แม่ออน หมู่บ้านที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศไร่กาแฟปลอดสารพิษและมีคุณภาพทั้งด้านรสชาติ และความหอมหวาน
ขุนช่างเคี่ยน อ.เมือง จากสวนลิ้นจี่ถูกปรับเปลี่ยนผสมผสานการเพาะปลูกให้เป็นสวนลิ้นจี่ผสมกับต้นกาแฟ ทำให้เมล็ดกาแฟที่นี่มีกลิ่นหอมเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร
แม่วิน อ.แม่วาง ด้วยความรวมตัวกันภายของชุมชนทำให้เกินการพัฒนาสายพันธ์กาแฟจนทำให้แม่วินมีผลผลิตเมล็ดกาแฟที่โดดเด่นต่างจากแหล่งอื่น
หนองหล่ม อ.จอมทอง จากเมล็ดกาแฟบนดอยอินทนนน์ ที่หลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯทอดพระเนตรและดำริ และนำเมล็ดพันธ์มาปลูกพัฒนาต่อยอดจนเป็นจุดแรกเริ่มของกาแฟในเชียงใหม่
ขุนแตะ อ.จอมทอง ไร่กาแฟจากหมู่บ้านชาวปกากะญอ ในพื้นที่ป่าที่อุดมด้วยระบบนิเวศที่สมบูรณ์ทำให้มีผลผลิตที่มากและมีคุณภาพ
โป่งสะแยน อ.แม่แจ่ม แหล่งอาศัยของ “นกเงือก” ที่หายากบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของ ป่าไม้ ไร่กาแฟในรูปแบบไม่ต้องตัดต้นไม้จึงเป็นการอนุรักษ์ นกเงือกให้ยังคงอยู่และเป็นแหล่งศึกษา นกเงือก ของไทย
พะอัน อ.อมก๋อย ชุมชนพะอันได้จัดสรรพื้นที่ป่าชุมชนให้เป็นไร่กาแฟและแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนและได้รับมาตรฐานกาแฟอินทรีย์
แม่ตุงติง อ.สะเมิง ไร่กาแฟบนความสูง 1,000 – 1,200 เมตร บนเทือกเขาและป่าไม้สมบูรณ์ในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ปราศจากสารเคมี
แม่ตะละ อ.กัลยาณิวัฒนา การปลูกพื้นกาแฟได้กลายเป็นทางเลือกให้คนบ้านแม่ตะละใหม่ ได้ปลูกกาแฟที่ไม่เพียงเพื่อเศรษฐกิจในชุมชนแต่เพื่อที่จะช่วยให้แหล่งน้ำต่างๆ กลับมาสมบูรณ์เหมือนครั้งก่อน
เลาวู อ.เวียงแหง กาแฟเกรดพรีเมี่ยม ที่ปลูกบนความสูงกว่า 1,400 เมตร ทำให้กาแฟมีรสชาติดีด้วยคะแนน 85.25 จาก 100 คะแนน ในการทดสอบรสชาติ
-
กาแฟเชียงราย แหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดี 7 แห่งในเชียงราย
กาแฟดอยวาวี แหล่งปลูก : ดอยวาวี จ.เชียงราย / อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
สำหรับกาแฟดอยวาวี แม้จะปลูกที่เชียงราย แต่ไปมีชื่อเสียงและเปิดเป็นร้านกาแฟแห่งแรกที่เชียงใหม่ ร้านกาแฟวาวีใช้เมล็ดกาแฟจากจังหวัดเชียงราย 70% บวกกับ
กาแฟจาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และกาแฟจากขุนยะ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ อีก 30% เป็นร้านกาแฟที่ได้รับความนิยมมากทีเดียวสำหรับคอกาแฟ
กาแฟดอยตุง แหล่งปลูก : พื้นที่ของโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กาแฟดอยตุงถือเป็นกาแฟแบรนด์ไทยในยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้ เป็นกาแฟที่ปลูกขึ้นจากโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่า เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเป็นธุรกิจส่วนรวมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และอาชีพต่อชุมชนบนดอยตุงให้ดีขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นบนพื้นที่ของโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงด้วย
กาแฟดอยช้าง แหล่งปลูก : ดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ดอยช้าง ตั้งอยู่ที่ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นดอยสูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ด้วยความสูงนี้จึงสามารถปลูกกาแฟอาราบิก้าได้คุณภาพดีเยี่ยม ในอดีตพื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกฝิ่นขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟแห่งเดียวในโลก ที่ผลิตกาแฟแบบครบวงจร นับตั้งแต่ปลูก เก็บผลผลิต ลงเครื่องคั่ว ส่งออกขายเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว และขายเป็นกาแฟสำเร็จรูป ทั้งยังมีการสร้างแบรนด์กาแฟดอยช้างเพื่อส่งออกขายไปยังต่างประเทศ
กาแฟดอยหมอก แหล่งปลูก : ดอยหมอก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พื้นที่แห่งนี้ก็สามารถปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าคุณภาพดีได้เช่นกัน ซึ่งพื้นที่ของดอยหมอกก็เป็นส่วนหนึ่งในบริเวณเดียวกันกับดอยช้าง ผู้ปลูกและผลิตกาแฟทำโดยกลุ่มชาวบ้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปพืชเมืองหนาว กาแฟคั่วที่บรรจุขาย นำมาขายและสร้างแบรนด์กาแฟที่ชื่อว่า ลีซู ดอยช้าง
กาแฟอาข่า อ่ามา แหล่งปลูก : หมู่บ้านชาวอาข่า อ.แม่สรวย จ.เชียงราย กาแฟของร้านอาข่า อ่ามา เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า 100% คุณภาพดี เกรดพรีเมียม ซึ่งปลูกที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แต่ไปเปิดตัวแบรนด์ อาข่า อ่ามา ที่เชียงใหม่จนโด่งดัง โดยมีหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ‘ลี อายุ จือปา’ หนุ่มชนเผ่าชาวอาข่าที่เป็นเจ้าของแบรนด์ และกำลังนำกาแฟแบรนด์นี้ส่งออกขายไปทั่วโลก
กาแฟปางขอน แหล่งปลูก : บ้านปางขอน บ้านห้วยชมภู จ.เชียงราย กาแฟของบ้านปางขอน เป็นกาแฟที่เติบโตใต้ต้นไม้ใหญ่และต้นน้ำลำธารตามธรรมชาติ ทำให้เมล็ดกาแฟโตอย่างช้าๆ ซึบซับรสชาติจากผืนดินได้ดี โดยไร่กาแฟธรรมชาติแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ซึ่งทำให้กาแฟของบ้านปางขอนมีรสชาติเข้มข้นเป็นพิเศษ
กาแฟแม่จันใต้ แหล่งปลูก : บ้านแม่จันใต้ จ.เชียงราย / อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พื้นที่สำหรับปลูกกาแฟบ้านแม่จันใต้ อยู่ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ติดกับเขต อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่นี่ชาวบ้านปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และดูแลขั้นตอนการผลิตเองทั้งหมด เรียกว่าเป็นกาแฟผลิตแบบแฮนด์เมดที่แท้จริง มีสินค้ากาแฟคั่วบดคุณภาพดีส่งขายทั่วประเทศ คอกาแฟรู้จักกาแฟแม่จันใต้กันเป็นอย่างดี
-
กาแฟแม่ฮ่องสอน
แหล่งปลูกกาแฟหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง แหล่งปลูกกาแฟรอง ได้แก่ในบางพื้นที่ของ อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอเมือง และอำเภอสบเมย กาแฟที่โด่งดัง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเช่น กาแฟดูลาเปอร์ โดยเกษตรกร พี่แดง ดูลาเปอร์ กาแฟห้วยห้อม แม่ลาน้อย กาแฟหอมเหาะ จากดอยแม่เหาะ หรือกระทั่งกาแฟ จากขุนยวม เป็นต้น
-
กาแฟลำปาง
บ้านแม่แจ๋ม ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ที่นั่นนอกจากบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีแล้ว ยังเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีอีกพื้นที่หนึ่งของภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ บ้านปางใหม่ บ้านปางต้นหนุน บ้านดอยลังกา และ บ้านปางม่วง (กาแฟมูเซอ หรือลาหู่) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แยกออกไปจากบ้านแม่แจ๋ม
ขึ้นเขาดอยลังกาไปอีกประมาณ 12 กิโมเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง สองข้างทางตั้งแต่บ้านแม่แจ๋มขึ้นไป จะมองเห็นสวนกาแฟอาราบิก้าของชาวบ้านปลูกสลับกับพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการทำสวนกาแฟแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการปลูกแบบภายใต้ร่มเงา ซึ่งจะให้ผลผลิตดีมีคุณภาพผลกาแฟจะไม่ติดลูกดกเหมือนปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง ยังมีอีกหลายแหล่งเช่น บ้านป่าเมี้ยง บ้านใหม่พัฒนา ไร่กาแฟปางมะโอ กาแฟเมืองปาน หรือกระทั่ง กาแฟบ้านบ่อสี่เหลี่ยม อ.งาว (กาแฟม้ง) -
กาแฟน่าน
กาแฟน่าน ถูกเพาะปลูกในหลากหลายพื้นที่ของจังหวัด เพราะความพิเศษของเมล็ดกาแฟน่านคือเป็น “กาแฟ สร้างป่า” เมื่อเราเดินทางไปยัง แหล่งเพาะปลูกกาแฟ น่าน เพื่อตามรอยเส้นทางสายกาแฟ จะได้เห็นว่าเมล็ดกาแฟที่เพาะปลูกในจังหวัดน่านนั้น เป็นการปลูกแซมกับต้นไม้หรือพืชที่มีอยู่ ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเพาะปลูกต้นกาแฟ ดังนั้นเมล็ดกาแฟส่วนใหญ่จึงเป็นเมล็ดกาแฟที่อยู่ใต้ร่มไม้ในเขตป่า ซึ่งการถูกปลูกอยู่ใต้ร่มไม้ทำให้ต้นกาแฟโดนแสงน้อย ให้ผลผลิตช้า แต่ผลลัพธ์ของการปลูกให้ต้นกาแฟโดนแสงน้อยและให้ผลผลิตช้าคือ คุณจะได้เมล็ดกาแฟที่มีกลิ่นหอม เข้มข้นมากกว่าต้นกาแฟที่มีผลผลิตเร็วและโดดแสงแดดจัด
-
แหล่งปลูกกาแฟน่าน
บ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา “ไร่กาแฟสวนยาหลวง” บ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ชุมชนของชาวเผ่าเมี่ยน (เย้า) ที่อพยพมาจากประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในจุดห้ามพลาดที่ต้องแวะไปเยี่ยมเยือน ไม่ใช่เพียงเพราะเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่อาศัยกลมกลืนกับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางภูเขาสลับซับซ้อน แต่อดีตพื้นที่ปลูกฝิ่นแห่งนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟหลังจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.น่าน เข้ามาแนะนำและส่งเสริม ผลผลิตที่ดีทำให้สวนยาหลวงเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของน่านไปโดยปริยาย โดยมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกาแฟ เป็นที่รู้จักในหลายชื่อ อาทิ กาแฟสวนยาหลวง กาแฟสันเจริญ กาแฟภูสัน ฯลฯ…
ดอยมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง ไร่กาแฟอีกแห่งที่เป็นไฮไลต์ไม่แพ้กัน คือ “ไร่กาแฟดอยมณีพฤกษ์” ใน อ.ทุ่งช้าง บ้านมณีพฤกษ์ เป็นหมู่บ้านของ 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชาวม้ง 1 หมู่บ้าน และชาวลั๊วะ 2 หมู่บ้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรที่สวยงาม มีโครงการทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาว รวมทั้งแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งของน่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “กาแฟมณีพฤกษ์ และกาแฟเดอม้ง” ภายในหมู่บ้านจึงมีโรงคั่วกาแฟแบบโบราณ และร้านกาแฟ Kluay Hidden CaféÉ ชิมกาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีทั้ง เกอิชา จาวา คาติมอร์ และทิปปิก้า
ดอยสกาด อ.ปัว ออกไปที่ อ.ปัว “ไร่กาแฟดอยสกาด” ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าลั๊วะ ด้วยความสูง 900-1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศเย็นสบายตลอดปี และหนาวจัดในฤดูหนาว จึงเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีอีกแห่งของน่าน นอกจากนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นอย่างมะแขว่น, เมี่ยง และชาด้วย นอกจากจะมาชมวิถีเกษตรของชาวลั๊วะแล้ว ยังมีวิถีชีวิตชนเผ่าลั๊วะหมู่บ้านสกาด ชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนไว้ รวมทั้งมีการแสดง การตีพิ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวลั๊วะ ภูพัน ๙,
บ้านห้วยโทนและบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ : “ไร่กาแฟบ้านห้วยโทน” อ.บ่อเกลือ อีกชุมชนชาวลั๊วะที่มีวิถีชีวิตอยู่อาศัยพึ่งพิงกับธรรมชาติ นอกจากปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าคุณภาพดีแล้วยังมีองุ่น พริกหวาน สตรอเบอรี่ด้วย แถมแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามทางธรรมชาติ อาทิ น้ำตกห้วยโทนเล็ก น้ำตกห้วยโทนใหญ่ น้ำตกห้วยว้า น้ำตกห้วยลอ น้ำตกห้วยขุย และถ้ำค้างคาว ส่วนคนชอบดูดาวแนะนำให้กางเต็นท์ชมดาว ณ ลานอ้อนรัก
“ไร่กาแฟบ้านห้วยขาบ” อ.บ่อเกลือ ชุมชนขนาดเล็กของชาวเผ่าลั๊วะที่อยู่แบบพึ่งพิงธรรมชาติ กาแฟบ้านห้วยขาบอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่สามารถเดินทางไปชมไร่กาแฟได้ -
กาแฟแพร่
เป็นที่รู้กันในหมู่คน ที่ชื่นชมรสชาติของการดื่มกาแฟคงรู้จักกาแฟของจังหวัดแพร่มาบ้างแล้ว นั่นคือ กาแฟเด่นชัย ซึ่งมีชื่อเสียงมานาน เมืองแพร่เป็นเมืองเล็กๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ กลับมีร้านกาแฟอยู่เกือบทุก 100 เมตรบนถนน ในเขตเมืองและบนถนนทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นสายหลัก สายรอง มีต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือคอกาแฟให้ลิ้มลองรสชาติ ทำให้ธุรกิจกาแฟในเมืองแพร่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการนำเข้ากาแฟจากดอยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย และจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นปริมาณที่มาก จังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 2,825 ไร่ เกษตรกร 579 ราย โดยจะปลูกบนพื้นที่เขาสูงในเขตอำเภอเมืองแพร่ ร้องกวาง ลอง สอง วังชิ้น และเด่นชัย พื้นที่ปลูกจะเป็นพันธุ์โรบัสต้า 1,720 ไร่ คิดเป็น 61% และอาราบิก้า 1,105 ไร่ คิดเป็น 39% กาแฟของแพร่อาจจะ “เพิ่งเริ่ม” แต่มีคุณภาพทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น แม่ลัวคอฟฟี่บ้านแม่ลัว, ปากกลายคอฟฟี่บ้านปากกลาย, นาตองคอฟฟี่บ้านนาตอง, กาแฟดอยนมนางบ้านนาคูหา อำเภอเมืองแพร่, แพร่โรบัสบ้านน้ำพร้าว, กาแฟเด่นชัยบ้านแม่พวก อำเภอเด่นชัย, กาแฟคนเมืองบ้านวังปึ้ง อำเภอร้องกวาง, กาแฟแพร่เบรนด์ อำเภอลอง, กาแฟปางงุ้น ปังปังบ้านปางงุ้น อำเภอวังชิ้น และที่สำคัญได้มีการ Cupping Coffee กาแฟทั้งสองสายพันธุ์ของเกษตรกรโดยนักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ
-
กาแฟตาก
จังหวัดตากเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดี โดยสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านมูเซอส้มป่อย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่เขตติดต่อกับสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอและทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “บริเวณนี้น่าจะปลูกได้เหมาะสมดี ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวเขาให้มีการปลูกกาแฟที่ถูกต้องและมีการจัดการที่ดี เพราะรู้สึกว่าชาวเขาที่จะปลูกอยู่ไม่เป็นระเบียบ และพันธุ์กาแฟที่จะส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกควรเป็นพันธุ์กาแฟที่แตกต่างจากภาคใต้”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ กาแฟตาก : กาแฟดีจังหวัดตาก เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ด้วยมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 800 เมตร มีความชุ่มชื้นในดิน และมีแร่ธาตุสมบูรณ์เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิกา ทำให้รสชาติกาแฟที่ปลูกในแหล่งปลูกนี้ได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งกลิ่นหอมและรสชาติ กาแฟเลอตอโก, กาแฟรักษ์ป่าทีลอซู, กาแฟมูเซอร์ ออร์กานิค เป็นต้น -
กาแฟอุตรดิตถ์
เมืองที่พวกเรามักนึกไม่ถึงว่ามีปลูกกาแฟด้วย เพราะจะนึกไปถึงผลไม้พวก ทุกเรียน ลางสาด เสียมากกว่า โดยการปลูกกาแฟที่นี่จะมีทั้ง อาราบิก้า และโรบัสต้า กาแฟโรบัสต้า จะปลูกที่ ตำบลนางพญา อ.ท่าปลา เป็นจำนวนมาก เช่น ไร่กาแฟกิ่วเคียน, กาแฟนางพญา ซึ่งนับว่า เป็นกาแฟโรบัสต้า แหล่งปลูกที่ดีที่สุด 1 ใน 3 ของประเทศไทย กาแฟอาราบิก้า เริ่มมีการสนับสนุนให้ปลูกกาแฟอาราบิก้า ไม่นานนัก โดยส่วนใหญ่ จะปลูกในบริเวณป่ารอยต่อ ระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ในเขตของ อ.ลับแล และอ.เมือง ซึ่งแถบนี้มีสวนผลไม้จำนวนมาก ทั้งทุเรียน ลองกอง ลางสาด โดยจะปลูกกาแฟแซมลงไปตามโคนไม้เหล่านี้ เป็นพื้นที่ กระจายเป็นบริเวณกว้าง
-
กาแฟเลย : หอมเลย
จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟกระจายไปในแทบทุกอำเภอ เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดเลยเป็น ภูเขาสูงสลับไปมา มีการปลูกกาแฟทั้งสายพันธุ์อาราบิกา และโรบัสต้า ซึ่งส่วนใหญ่ที่เน้นกันจะเป็นการพยายามปลูกในแบบ ออร์แกนิค
การทำการเกษตรแบบอินทรีย์หรือการเกษตรแบบออร์แกนิคนั้นต้องอาศัยความอดทนและใจเย็น เพราะขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ในการปลูกนั้นจะต้องได้รับความเอาใจใส่และเรียนรู้วิธีเพาะปลูกอย่างถูกหลักเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งข้อเสียของการทำเกษตรแบบนี้ก็คือเสียเวลานาน แต่มูลค่าของผลผลิตกลับสูงกว่าเพราะเป็นการเติบโตตามธรรมชาติ เจาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี ชาวสวนหลายๆ คนจึงหันมาปลูกกาแฟออร์แกนิคเพราะมีมูลค่าในการขายสูงกว่า
ขั้นตอนในการปลูกกาแฟแบบออร์แกนิคนั้น ต้องเริ่มต้นใส่ใจตั้งแต่การดูแลดินที่ใช้ปลูกจะต้องไม่มีสารเคมีตกค้าง ทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกจะต้องไม่มีสารเคมีใดๆ มาเกี่ยวข้อง แม้กระทั่งปุ๋ยเคมีก็ห้ามใช้แต่ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพแทน
ดังนั้นสิ่งสำคัญในการปลูกกาแฟแบบออร์แกนิคจึงอยู่ที่สภาพของดินเป็นหลัก จะต้องมีการปลูกพืชคลุมดิน โรยปุ๋ยคอกและมูลสัตว์เอาไว้เพื่อให้ดินมีแร่ธาตุและอาหารมากพอ หลังจากนั้นจึงลงต้นกล้ากาแฟ และผลผลิตที่ได้ก็จะได้ช้ากว่าการใช้สารเคมีเร่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เราจะได้กาแฟที่มีรสชาติเยี่ยม ดีต่อสุขภาพและไร้สารเคมีเจือปน เป็นกาแฟที่มีคุณภาพสูง ราคาก็สูงตามคุณภาพด้วย และปริมาณเมล็ดกาแฟที่ได้ก็ไม่มาก กาแฟเลย เช่น กาแฟออร์แกนิกวังสะพุง, กาแฟไร่ลองเลย, กาแฟหอมเลยไร่ศกุนตลา, ไร่กาแฟชายคากาแฟ เป็นต้น -
กาแฟโคราช (นครราชสีมา)
แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของ จ.นครราชสีมา อยู่ใน อ.วังน้ำเขียว และ อ.สูงเนิน นิยมปลูกกาแฟพันธุ์อราบิกา โดย อ.วังน้ำเขียว จะเป็นการผลิตแบบเกษตรกรรายใหญ่ในรูปแบบบริษัทเอกชน ส่วน อ.สูงเนิน นิยมปลูกในพื้นที่หมู่บ้านดงมะไฟ ต.มะเกลือเก่า ที่อยู่ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ และมีการเริ่มปลูกกาแฟเมื่อปี 2545 และดำเนินการมาอย่างจริงจังจนกระทั่งเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ “กาแฟดงมะไฟ” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านการปลูกที่มีการเก็บเกี่ยวอย่างมีคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน
พื้นที่กาแฟที่ปลูกใน จ.นครราชสีมา จะอยู่ที่ระดับความสูง 400-700 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยพื้นที่โดยรอบจะเป็นผืนป่าแหล่งต้นน้ำลำธารทำให้กาแฟดงมะไฟ มีอัตลักษณ์ รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอม และที่สำคัญ มีระดับสารกาเฟอีน 1% หรือมีความเข้มข้นของกาเฟอีนระดับต่ำ เป็นผลดีต่อผู้ที่ชื่นชอบดื่มกาแฟเป็นประจำ
จุดเด่นที่ทำให้กาแฟวังน้ำเขียวมีความหอมอร่อย เพราะ 1. ความสูงในระดับน้ำทะเลมีความเหมาะสม 2. เป็นดินภูเขาไฟจึงมีความสมบูรณ์จากแร่ธาตุจำนวนมาก 3. มีธาตุโพแทสเซียมมากกว่าแหล่งอื่น 4. สภาพอากาศที่มีความบริสุทธิ์เพราะมีโอโซนมาก
Post Comment