Innerpage Image

กินกาแฟแล้วดียังไง ???

กาแฟไทยคอกาแฟ กินกาแฟแล้วดียังไง ???

เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลกปฏิเสธไม่ได้เลยว่านั่นก็คือ กาแฟ เพราะนอกจากจะมีรสชาติเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาคนที่ชื่นชอบแล้ว หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ประโยชน์ของกาแฟก็จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายผู้ดื่มอย่างแน่นอน ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณไปดูกันนะคะว่าประโยชน์ของกาแฟมีอะไรบ้าง และจะมีวิธีดื่มกาแฟอย่างไรให้เหมาะสม

ประโยชน์ของกาแฟ

  • ช่วยให้หายง่วง กระตุ้นการตื่นตัว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือขณะขับรถยนต์
  • ช่วยในการเผาผลาญอาหาร สลายไขมันได้ เพราะคาเฟอีนจะไปช่วยกระตุ้นการทำงานของเมตาโบลิซึม
  • หากทานในปริมาณที่พอเหมาะ อนุมูลอิสระที่มีอยู่ในกาแฟจะช่วยให้แก่ช้า ชะลอการเสื่อมโทรมไม่ให้แก่ก่อนวัย
  • ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งในช่องปาก ฯลฯ
  • ลดอาการปวดหัวและไมเกรนปวดศีรษะ เพราะคาเฟอีนช่วยขยายหลอดเลือด ระงับอาการปวด
  • ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคพาร์กินสัน ภาวะอาการที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติและมีอาการสั่นตามร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากการเสื่อมหรือเสียหายของเซลล์สมองชนิดนี้ งานวิจัยพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างกาแฟ ชา และน้ำอัดลมเป็นประจำนั้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้
  • ป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟอย่างน้อยวันละ 400 มิลลิกรัมดูเหมือนจะมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้ โดยจากการศึกษาในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนจำนวนหลายพันคน ปรากฏว่าความเสี่ยงต่อโรคทั้งชายและหญิงจะยิ่งลดลงเมื่อได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากขึ้น
  • ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง งานวิจัยหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมทดลอง 5,145 คน ดื่มกาแฟวันละ 1 หน่วยบริโภค วันละไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค วันละ 2-2.5 หน่วยบริโภค หรือวันละ 2.5 หน่วยบริโภคขึ้นไป ผลการศึกษาชี้ว่าปริมาณการดื่มกาแฟที่มากขึ้นจะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 
  • ป้องกันโรคเบาหวาน จากการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กาแฟอาจมีส่วนช่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากับผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวาน มะเร็ง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด แล้วพบว่าการดื่มกาแฟในระยะยาวมีส่วนช่วยยับยั้งการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือการทดลองในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ที่พบว่าการดื่มกาแฟโดยไม่ใส่น้ำตาลหรือครีมเทียมอย่างน้อยวันละ 3 ครั้งต่อวันให้ผลดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค

บุคคลที่ควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟ

  • หญิงที่ตั้งครรภ์ควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปไม่เกิน 2 แก้ว หรือเท่ากับกาแฟชงสด 1 แก้ว หากได้รับกาแฟมากกว่านี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยได้ โดยยิ่งได้รับกาแฟมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
  • การดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้วดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายสำหรับแม่ที่ต้องให้นมบุตรและทารก แต่การดื่มกาแฟในปริมาณมากอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของทารก อีกทั้งทำให้เด็กนอนไม่หลับและเกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวได้
  • การให้เด็กดื่มกาแฟอาจไม่ปลอดภัย เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการดื่มที่รุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่
  • ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการวิตกกังวลที่แย่ลงได้จากการดื่มกาแฟ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติ การดื่มกาแฟอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้
  • การดื่มกาแฟต้มจะยิ่งทำให้ได้รับคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดอื่น ๆ ในเลือดสูงขึ้น รวมถึงระดับโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ในร่างกายที่อาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ และยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการดื่มกาแฟนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • บางงานวิจัยแนะนำว่าสารคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีรายงานว่ากาแฟอาจไปเพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดก็ได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรใช้กาแฟอย่างระมัดระวังและหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • การดื่มกาแฟอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้วมีระดับความดันโลหิตสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบนี้น้อยกว่า
  • ผู้ป่วยโรคต้อหินไม่ควรดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ความดันภายในดวงตาสูงขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ภายใน 30 นาทีแรกและคงอยู่อย่างน้อย 90 นาที
  • การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนอาจทำให้แคลเซียมถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้นจนกระดูกอ่อนแอลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจึงควรจำกัดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 2-3 แก้ว และอาจรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อทดแทนแคลเซียมที่สูญเสียไป
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือมีโรคลำไส้แปรปรวนอยู่แล้วไม่ควรรับประทานกาแฟ เพราะสารคาเฟอีนในกาแฟอาจทำให้อาการท้องเสียหรืออาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อได้รับในปริมาณมาก
  • หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีโรคความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของวิตามินดีได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟเป็นพิเศษ

ปริมาณการดื่มกาแฟที่ปลอดภัย

ปริมาณกาแฟที่ใช้รักษาโรคชนิดต่าง ๆ ตามที่มีการศึกษาวิจัยในปัจจุบันและพบว่าใช้ได้อย่างปลอดภัย มีดังนี้

  • การรักษาอาการปวดศีรษะ ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้ว
  • การเพิ่มความรู้สึกตื่นตัว ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้ว
  • การป้องกันโรคพาร์กินสัน ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนวันละ 3-4 แก้ว โดยแต่ละงานวิจัยใช้กาแฟที่มีคาเฟอีนประมาณ 421-2,716 มิลลิกรัม แต่การดื่มประมาณ 124-208 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1-2 แก้วก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับผู้หญิงควรรับประทานประมาณวันละ 1-3 แก้วจะให้ผลดีที่สุด
  • การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้รับคาเฟอีนในปริมาณวันละ 400 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือเทียบเท่ากับกาแฟมากกว่า 2 แก้ว อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัมนั้นน่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด

ขอขอบคุณแหล่งที่มา
obpad.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

error: Content is protected !!