กาแฟขี้ชะมด เจ้าแรก
เขาเปลี่ยนอีสานให้เขียวชอุ่ม และหอมกรุ่นด้วยกลิ่นกาแฟขี้ชะมด เฟลม-เกียรติศักดิ์ คำวงษา หนุ่มนครพนมวัย 24 ปี บัณฑิตคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และกำลังศึกษาต่อปริญญาโทในคณะเดียวกัน ชีวิตของเขาเริ่มผกผันหลังครอบครัวเจอวิกฤตและแบกรับหนี้ก้อนใหญ่ ทำให้ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากงานก่อสร้าง ขายขนม จนไปปิ๊งไอเดียผลิตกาแฟที่ไม่ธรรมดา และได้ราคาสูงกว่า ซึ่งสามารถปลดหนี้หลักสิบล้านหมดภายใน 5 ปี
กระทั่งวันนี้แม้เส้นทางของเขาจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็เจ็บแสบกับหนามแหลมมามาก กว่าจะตั้งหลักและเป็นหลักให้ครอบครัว
“ผมอยากหาเงินช่วยที่บ้าน ทำให้คิดอยากทำธุรกิจสักอย่างเพื่อช่วยแม่หาเงิน” เฟลมสูญเสียคุณพ่อไปตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีจากอุบัติเหตุ พร้อมกับมีหนี้จำนวนมหาศาล ในฐานะของลูกชายคนโตเขาจึงรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องดูแลครอบครัวแทนบิดา หลังจากจบมัธยมฯ เฟลมตัดสินใจเรียนสายอาชีพต่อ เพราะอยากมีเวลาทำงานและอยากมีทักษะด้านงานก่อสร้าง ซึ่งเคยเป็นธุรกิจของครอบครัวก่อนถูกโกงเงินจนเป็นหนี้สิน
“ตอนนั้นผมเขียนแบบก่อสร้าง ช่วยแม่ดูแลงานก่อสร้าง และออกไปหานายทุนเพราะเราไม่มีทุน แต่มีแรงที่จะทำได้อยู่ ผมทำหน้าที่เป็นคนออกไปหางานแล้วให้นายทุนลงทุน ส่วนเราจะจัดการให้ทุกอย่าง จนพอมีเงินสร้างบ้าน คือสร้างกันเองกับแม่ และมีเงินนำไปใช้หนี้ได้เรื่อยๆ”
หลังจากนั้นเขาเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่บ้านเกิด แต่ยังไม่ถึงปี 4 ก็ลาออกเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางที่ชอบ ประกอบกับธุรกิจก่อสร้างมีตัวแปรหลายอย่างทั้งค่าแรงงานขั้นต่ำ ค่าเหล็ก และค่าอุปกรณ์หนักที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงมองหาคณะที่สอนให้ทำธุรกิจ และตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เลือกเรียนคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้กล้าคิดนอกกรอบไปสู่สิ่งที่ไม่ถนัดแต่มีโอกาสทางธุรกิจ
เฟลมเล่าย้อนกลับไปในปี 2554 ถึงจุดเริ่มต้นของการทำกาแฟขี้ชะมดว่า นครพนมเป็นเมืองเล็กๆ ถ้าจะเปิดร้านอาหารก็คงสู้กับคนอื่นได้ยาก เลยคิดจะทำขนม
“ตอนนั้นเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนสูตรการทำและดูว่าต้องขายยังไง แต่พอกลับมาทำที่นครพนมผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางของเรา เลยกลับมาคิดอีกครั้งว่า ตอนนั้นอะไรที่มันยังไม่มีในตลาด โดยใช้วิธีเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ว่าคนไทยยังต้องการอะไร จนไปเจอกาแฟขี้ชะมด มีคนรีวิวว่าอยากกินกาแฟขี้ชะมดต้องสั่งมาจากอินโดนีเซีย ผมเลยสนใจว่าหากผลิตในไทยมันจะเวิร์กไหมเพราะยังไม่มีคนทำ”
หลังจากเห็นหน้าตาของชะมด ราวกับเห็นความหวังและโอกาส เพราะมันคือสัตว์เลี้ยงในวัยเด็กที่เขาเคยซื้อต่อมาจากพ่อค้าขายของป่า (คนอีสานกินเนื้อชะมดเป็นอาหาร) และจำได้ว่าขี้ของมันไม่เหม็นอย่างสัตว์ชนิดอื่น จึงเริ่มสนใจกาแฟขี้ชะมดมากขึ้นๆ จนลองเลี้ยงมันอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ปล่อยให้วิ่งเล่นอยู่ในไร่กาแฟ และตั้งใจเก็บขี้ของมันมาทดลองทำเป็นกาแฟขี้ชะมดด้วยตัวเอง
“ผมซื้อชะมดมาจากตลาด 10 ตัวแล้วนำไปปล่อยในไร่กาแฟของเพื่อนแม่ที่ จ.เลย เพราะอยากรู้ว่าพอมันขี้ออกมาหน้าตากับกลิ่นจะเหมือนอย่างที่อินเทอร์เน็ตว่ากันไหม ลองผิดลองถูกด้วยการลองทำและหาข้อมูลทุกอย่างด้วยตัวเอง จนในที่สุดก็สามารถทำเป็นกาแฟขี้ชะมดออกมาดื่มได้
จากนั้นผมได้นำต้นกล้ากาแฟจากเลยมาปลูกในที่ดินของตายายที่นครพนม เป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า เพราะปลูกได้ในที่ที่ไม่สูงมากและทนต่อแสงแดดได้ดี แต่กว่ากาแฟจะให้ผลผลิตต้องใช้เวลา 3 ปี ระหว่างนี้จึงปล่อยให้ชะมดกินกาแฟที่เลยไปก่อนและเก็บผลผลิตขายไปเรื่อยๆ ซึ่งชะมดหนึ่งตัวกินกาแฟปีละแค่ประมาณ 1 โลกว่าจึงไม่รบกวนหรือกระทบต่อผลผลิตในไร่นัก”
อย่างไรก็ตาม การมาจับธุรกิจกาแฟซึ่งเป็นกาแฟระดับบนและเป็นตลาดเฉพาะไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนั้นเขาเป็นนักศึกษาปี 1 จึงเริ่มต้นด้วยวิธีของคนรุ่นใหม่คือ ขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ภายใต้แบรนด์ บลูโกลด์คอฟฟี่ (BlueGold Coffee) แต่สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะในช่วง 2-3 เดือนแรกเขาขายแทบไม่ได้
“พอมันไม่เวิร์ก ผมเลยไปปรึกษาอาจารย์ที่คณะว่าการขายของแพงต้องทำยังไง อาจารย์แนะนำว่าอันดับแรกคือ ต้องทำแพ็กเกจจิ้งให้หรูหรา ดูแพง และต้องคิดวิธีชงให้เด่นกว่าที่อื่นเพราะที่อินโดนีเซียใช้วิธีชงแบบดริป ผมเลยจัดการปรับแพ็กเกจใหม่และทดลองวิธีการชงแบบอื่นเป็นเดือนๆ จนค้นพบว่าวิธีการชงแบบอิตาลีหรือมอคค่าพอตสามารถดึงรสและกลิ่นได้ดีที่สุด ทำให้ผมเป็นเจ้าแรกในไทยที่ชงกาแฟขี้ชะมดด้วยวิธีนี้
หลังจากนั้นก็ได้โพสต์ขายผ่านเพจ โดยขายเป็นคู่เซตพร้อมกามอคค่าพอตให้ดูน่าสนใจและคุ้มค่ากับราคากาแฟ จนได้รับการติดต่อจากโชว์รูมรถหรูให้ผลิตส่งเพื่อนำไปรับรองลูกค้าวีไอพี ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ธุรกิจมีเงินก้อน ผมขายกล่องละหมื่นบาท มีออร์เดอร์ 100-200 กล่อง ทำให้มีทุนต่อยอดเป็นหลักล้าน และเป็นเงินล้านก้อนแรกที่ทำให้ผมมีกำลังใจขึ้น”
เจ้าของกาแฟบลูโกลด์คอฟฟี่กล่าวด้วยว่า ช่วงแรกที่ขายไม่ได้ เขาได้รับความกดดันสูง เพราะความคาดหวังของตัวเขาเอง และการที่เป็นความหวังของครอบครัวที่จะแก้วิกฤตของทางบ้าน
“ในช่วงเริ่มต้นผมขอให้น้าๆ เลิกทำนาแล้วมาดูแลกาแฟในช่วงที่ผมเรียนอยู่กรุงเทพฯ และรับปากไว้ว่าถ้าวางขายเมื่อไร ต้องขายได้แน่นอน แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามนั้น ผมขายไม่ได้เป็นเดือนๆ เพราะจับตลาดไม่ถูก จนรู้สึกท้อแท้และกดดันมาก แต่การทำธุรกิจต้องอดทน ต้องมีความรู้ และต้องรอจังหวะ ซึ่งหลังจากมีออร์เดอร์เข้ามาก็เป็นเรื่องการบริหารและการต่อยอด”
จากผู้ผลิตกาแฟ เขาได้เปิดร้านกาแฟสาขาแรกย่านรามอินทรา ขายทั้งกาแฟธรรมดาและกาแฟขี้ชะมดแก้วละ 500 บาท จากนั้นไม่นานก็เปิดสาขา 2 ที่ไร่ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม และต่อยอดให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้วิถีชะมด โดยได้ทำสวนสัตว์ขนาดย่อม มีกิจกรรมนั่งรถม้า ขี่ม้า จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยววันหยุดของคนท้องถิ่น มีห้องประชุมสัมมนารองรับกลุ่มข้าราชการในจังหวัด และขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่พักกว่า 50 ห้อง เพื่อรองรับกลุ่มศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวที่ต้องการดูวิถีชะมด รวมไปถึงกระบวนการผลิตกาแฟขี้ชะมดทุกขั้นตอน คาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 2562 ในช่วงที่กาแฟออกผลให้ชะมดออกหากิน
“ผมยังนำกาแฟขี้ชะมดไปต่อยอดทำสินค้าประเภทอื่น คือนำกากกาแฟไปทำสครับ และอีกส่วนหนึ่งไปทำเป็นคราฟต์เบียร์กาแฟขี้ชะมด คิดว่าน่าจะวางขายที่ไร่ได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนตัวร้านกาแฟเองผมวางแผนไว้ว่าจะเปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ และมีแผนจะส่งเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าเพื่อขยายตลาดด้วย”
เขาสามารถปลดหนี้ของครอบครัวได้หลังจากทำกาแฟขี้ชะมดประมาณ 2 ปี จนถึงตอนนี้กิจการบลูโกลด์คอฟฟี่ขึ้นสู่ปีที่ 8 จากชะมด 10 ตัวกลายเป็น 500 ตัว จากพื้นที่ปลูกกาแฟ 10 ไร่กลายเป็น 400 ไร่ จากผลิตกาแฟขี้ชะมดได้ปีละไม่กี่กิโลกรัมกลายเป็นปีละมากกว่า 1 ตัน
“ตอนเด็กๆ พ่อเคยถามผมว่า โตมาอยากเป็นอะไร ผมตอบไปว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่พอพ่อเสียชีวิตทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน ผมต้องไปเรียนสายก่อสร้างและเริ่มสนใจการทำธุรกิจ พอถึงวันนี้ผมก็ยังอยากทำตามความฝันเดิม เลยเปิดบริษัทเขียนแอพพลิเคชั่นควบคู่ไปกับการทำกาแฟ และสนใจมองหาธุรกิจที่เกี่ยวกับไอทีอื่นๆ ดูเพื่อรองรับยุคดิจิทัล จนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เพราะยังต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอีกเรื่อยๆ และยังสนุกไปกับการต่อยอดธุรกิจ”
บทเรียนในชีวิตของเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่ครอบครัวเท่านั้นที่สำคัญที่สุด เพราะในสมัยที่ไม่มีเงินและมีหนี้สินติดตัว ถ้าไม่ได้ญาติพี่น้องช่วยเหลือก็คงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ เขายังถอดประสบการณ์ถึงคนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองว่า สิ่งแรกก่อนเริ่มทำธุรกิจต้องปรึกษาครอบครัว เพราะถ้าคนในครอบครัวไม่เห็นด้วยจะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ยาก
“อย่างผมเองในช่วงแรกๆ ต้องนำข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำกาแฟขี้ชะมดไปนั่งคุยกับแม่และญาติพี่น้องให้เขาเข้าใจและเห็นภาพว่าเรากำลังจะทำอะไร สร้างความเชื่อใจว่าเราจะทำได้ โดยเฉพาะคนที่อยากทำธุรกิจไปพร้อมกับการเรียนต้องอาศัยความช่วยเหลือจากครอบครัวเป็นหลัก ดังนั้นการได้รับการยอมรับจากครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ” เจ้าของกิจการรุ่นใหม่กล่าวทิ้งท้าย
“อีกสิ่งหนึ่งคือ ความอดทน อย่างผมเองก็เคยเริ่มต้นจากการขายไม่ได้จนมีความคิดอยากล้มเลิก แต่เมื่อหันไปเห็นครอบครัวก็ทำให้ผมอดทนรอจังหวะและเวลา ปรับเปลี่ยน และต้องใช้ความพยายาม กว่าธุรกิจจะรอด บางครั้งเราก็แทบไม่รอด และเมื่อรอดแล้วก็ต้องรักษาให้มันอยู่ต่อไป โดยอาศัยการต่อยอดและขยายตลาด ที่สำคัญคือ เมื่อเรารอดแล้ว ก็ต้องทำให้คนรอบข้างและสังคมรอบตัวอยู่รอดและมีความสุขไปด้วย ถึงเรียกว่าธุรกิจที่มีคุณค่าและมั่นคง”
*******
ต้นกำเนิดของ Kopi Luwak หรือ กาแฟขี้ชะมด นั้น เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์การผลิตกาแฟในอินโดนีเซีย ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ชนชาวดัตช์ หนึ่งในนักล่าเมืองขึ้น ณ ขณะนั้น ได้เข้าไปบุกเบิกทำไร่กาแฟขนาดใหญ่ในอาณานิคมแถบหมู่เกาะดัตช์อีสต์อินดีส ของชวาและสุมาตรา (ปัจจุบันก็คือ ประเทศอินโดนีเซีย) มีการนำเมล็ดกาแฟ สายพันธุ์อาราบิก้า มาจากเยเมน มาปลูกเพื่อส่งออกเป็นพืชเศรษฐกิจ
รัฐบาลดัตช์ยุคนั้นได้นำนโยบาย Cultivation System มาใช้กับหมู่เกาะดัตช์อีสต์อินดีส ต้องการสร้างให้อาณานิคมเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ชาวดัตช์มีคำสั่งห้ามชาวไร่พื้นเมืองและคนงานในไร่ ยุ่งเกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้นกับกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นดื่มหรือค้าขาย คือ มีหน้าที่ปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวอย่างเดียว นอกเหนือจากนี้ไม่ได้เด็ดขาด
ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ…คนพื้นเมืองเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า รสชาติของกาแฟสดมันเป็นเช่นไร อร่อยขนาดไหน ปลูกมากับมือ ทำไมจะลองชิมบ้างไม่ได้เชียวหรือ?
ไม่นาน… คนพื้นเมืองก็ได้รู้ว่า ผลกาแฟสุกสีแดงที่เรียกกันว่า ‘เชอร์รี่กาแฟ’ นั้น เนื้อของเป็นอาหารอันโอชะของเจ้าตัว Luwak สัตว์ท้องถิ่นกินพืชของที่นั่น ก็สัตว์ในตระกูลอีเห็นหรือชะมดนั่นแหละ มันกินแล้วขี้ออกมาเป็นก้อนๆ ทิ้งกระจัดกระจายไปทั่วไร่ ปรากฎว่า ในกองอึนี้มีเมล็ดกาแฟดิบที่ไม่ย่อยสลายติดอยู่ทั่ว ชาวดัตช์เจ้าของไร่ไม่สนใจไยดีอะไรนัก แต่คนพื้นเมืองเห็นเข้า ก็มองเห็นช่องทาง พวกเขาเก็บเมล็ดกาแฟดิบในกองอึของเจ้าตัว Luwak นำไปล้างทำความสะอาด เอาไปคั่ว และบด แล้วชงดื่ม จึงได้ลองลิ้มชิมรสกาแฟที่ปลูกด้วยน้ำมือตนเองเป็นครั้งแรก
อย่างรวดเร็ว… ชื่อเสียงกลิ่นความหอมของกาแฟจากขี้เจ้าตัว Luwak แพร่ขจรขจายจากคนพื้นเมืองไปสู่เจ้าของไร่ชาวดัตช์ ในไม่ช้าก็กลายเป็นกาแฟยอดฮิตในอาณานิคมหมู่เกาะดัตช์อีสต์อินดีส แต่เนื่องจากความหายาก และกระบวนการได้มาที่ซับซ้อนผิดปกติจากการผลิตกาแฟทั่วไป ส่งผลให้เมล็ดกาแฟชนิดนี้มีราคาแพงมากๆ ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นมา
ที่มา www.posttoday.com
www.bangkokbiznews.com
www.cw.in.th
Post Comment